วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของผักเหลียง

ผักเหลียง เป็นผักที่มีในท้องถิ่นภาคใต้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศสิงคโปร์ เดิมเป็นผักป่าขึ้นเองทั่วไป ต่อมานิยมบริโภคกว้างขวางมากขึ้น ก็มีชาวบ้านเอามาปลูกร่วมกับยาง ปรากฏว่าต้นงามและรสชาติอร่อย จากนั้นก็ขยายพันธุ์และปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ
    ผักเหลียง ยังรู้จักในชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันตามท้องถิ่น เหลียง (ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์-ใต้), เหมียง (พังงา ภูเก็ต กระบี่-ใต้), เขลียง เรียนแก่ (นครศรีธรรมราช), เหรียง (สุราษฎร์ธานี), ผักกะเหรี่ยง (ชุมพร), ผักเมี่ยง (พังงา) มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum gnemon L. Var. tenerum Markgr. เป็นพืชในวงศ์ : GNETACEAE เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 3-4 เมตร เป็นพืชที่เจริญทางใบมากกว่าลำต้นรากแก้ว ปลายใบเรียวแหลมและปลายใบมนแหลม ใบสีเขียวเป็นมันสดใสเมื่ออยู่ในร่มเงา แต่ถ้าอยู่ในที่โล่งใบจะสีจางหรือขาวทั้งใบ ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำหรือใช้ต้นจากรากแขนงปลูกได้ทั้งนั้น 
    ธรรมชาติของผักชนิดนี้ไม่ชอบแสงแดดและความร้อนสูง เจริญเติบโตดีในสภาพร่มเงา พบทั่วไปตามเนินเขาและที่ราบ ให้ผลผลิตมากที่สุดในฤดูร้อน คือ เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน และผลผลิตต่ำสุดในช่วงฤดูฝน คือ เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ปัจจุบันกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง และมีการนำไปทดลองปลูกตามที่อื่นๆ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน มากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกคู่กับยางพารา จนเรียกว่าพืชร่วมยาง ซึ่งได้ประโยชน์จากร่มเงาของต้นยางช่วยให้รสชาติผักอร่อยยิ่งขึ้น
    ผักเหลียงได้ชื่อว่าเป็นราชินีของผักพื้นบ้านภาคใต้ ด้วยรสชาติอร่อยถูกปาก มีรสชาติหวานมัน อมขมและติดฝาดเล็กน้อย ชาวบ้านใช้เป็นผักเหนาะรับประทานคู่กับอาหารที่มีรสเผ็ดจัด ช่วยตัดรสจัดจ้าน ลดความเผ็ดลงได้ และถ้านำไปผัดน้ำมันหอยจะอร่อยเลิศทีเดียว
    ผักเหลียงเป็นผักกินใบ จะเลือกเอาใบอ่อนมาปรุงอาหาร บ้างก็เอามาแกงเลียง ทำห่อหมก แกงจืด แกงส้ม เรียกว่าทำได้ทุกเมนู แถมผัดใส่ไข่ก็อร่อยมากเหมาะสำหรับทำให้เด็กรับประทานเพื่อเติมคุณค่าสารอาหารให้ครบถ้วน ถ้ากล่าวถึงสารอาหารในผักเหมียงที่ได้รับการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการจากภาคอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าใบเขียวเข้มของผักเหมียงอุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก ซึ่งเหมาะกับเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและผู้ที่มีปัญหาในเรื่องสายตาหรือการขาดวิตามินเอ
    เจ้าสารเบต้าแคโรทีนนั้น เมื่อไปจับกับไขมันจะเปลี่ยนเป็นโปรวิตามินเอ (วิตามินเอถ้าได้จากสัตว์จะอยู่ในรูปของวิตามินเอ แต่ถ้าได้จากพืชจะอยู่ในรูปของเบต้าแคโรทีน และเมื่อจับกับน้ำมันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นวิตามินเอ เราเรียกว่าโปรวิตามินเอ) ซึ่งมีประโยชน์ในการแก้ตาบอดกลางคืนหรือตาฝ้าฟางได้ดี การทำงานของเบต้าแคโรทีนในการบำรุงสุขภาพของดวงตา เบต้าแคโรทีนจะย่อยสลายที่ตับแล้วจะได้วิตามินเอ ซึ่งร่างกายนำไปใช้สร้างสารโรดอปซินในดวงตา ส่วนเรตินา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้  และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกด้วย
    ประโยชน์ถัดมาคือลดความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็ง จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญตัวหนึ่ง เมื่อร่างกายมีสารตัวนี้จึงช่วยป้องกันการเกิดเซลล์เนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งได้ และยังช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายที่ชื่อทีเฮลเปอร์ ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง และที่สำคัญกลุ่มสารดังกล่าวยังช่วยเติมความเปล่งปลั่งให้กับผิว ป้องกันความเหี่ยวย่น ชะลอความชราหรือต้านความแก่ได้ดี
    ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของตำรายาสมุนไพรของชาวบ้านที่กล่าวว่า ผักเหลียงมีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานแล้วจะช่วยบำรุงสายตา ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า แก้กระหายน้ำได้ดี โดยส่วนมากชาวสวนยางจะรู้ดีในเรื่องดี เวลากระหายน้ำหรือเหนื่อยมักจะเด็ดยอดอ่อนสดๆ เคี้ยวไปเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยลดการกระหายน้ำได้ และทีเด็ดสำคัญคือชาวบ้านจะใช้ใบผักเหมียงบำรุงผิว โดยเฉพาะรักษาฝ้าได้ดี และรสหวานมันของผักยังช่วยบำรุงฟัน กระดูกและเอ็นได้ดี ซึ่งสอดรับกับคุณค่าทางโภชนาการ ในใบเหมียงนอกจากอุดมด้วยเบต้าแคโรทีนแล้ว ยังมีแคลเซียมสูงซึ่งมักจะพบมากในพวกผักใบเขียวอยู่แล้ว
    นอกจากนี้ กลุ่มสารอาหารที่สำคัญที่พบคือพวกวิตามินบี ซึ่งช่วยในเรื่องของระบบประสาท บำรุงประสาทได้ดี วิตามินบีหนึ่งนั้นดีต่อสมองและความจำ วิตามินบี 2 ช่วยเผาผลาญกรดอะมิโนจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน ให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ไนอาซินช่วยให้กระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายเป็นไปด้วยดี และทำให้กระบวนการผลิตไขมันที่จำเป็นเป็นไปด้วยดี
    เนื่องเพราะเป็นผักประจำถิ่นภาคใต้จึงมีเยอะ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง ชาวบ้านในจังหวัดระนองจึงนำเอาใบผักเหลียงมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบผักเหลียง เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นสินค้า OTOP รสชาติอร่อยดี 
    ทั้งหมดนี่คือประโยชน์ของผักพื้นบ้านใบเขียวๆ ที่หน้าตาอาจดูเหมือนไม่ชวนอร่อย แต่ถ้าได้ลิ้มลองแล้วรับประกันได้ว่าอร่อยชัวร์ ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัดน้ำมันหอย ผัดใส่ไข่ แกงเลียง แกงจืด ล้วนรสเลิศทั้งนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น